ไม่ว่าจะทำธุรกรรมใดๆ ทะเบียนบ้านมักเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญทางราชการที่ต้องใช้อยู่เสมอ เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้เพื่อการแสดงตัวตนของผู้อยู่อาศัย หลายครั้งต้องใช้ทะเบียนบ้านตัวจริงเป็นหลักฐานในการยืนยันตัวตน เช่น
การขอเปลี่ยนชื่อ ระบุตัวตนให้ตรงกับบัญชีรายชื่อเพื่อมอบสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ใช้เป็นเอกสารยืนยันสัญชาติ หรือยื่นให้สถานศึกษาเพื่อศึกษาต่อ เป็นต้น
สำหรับท่านที่ต้องย้ายที่อยู่และแจ้งย้ายทะเบียนบ้าน โดยเบื้องต้นแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การแจ้งย้ายออก และ การแจ้งย้ายเข้า แต่ก็มีอีกหนึ่งวิธีที่สะดวกและเป็นที่นิยม นั่นคือ การย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางหรือการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง หมายถึง ผู้ที่ย้ายที่อยู่ สามารถไปแจ้งย้ายออกและย้ายเข้า ณ สำนักทะเบียนของท้องที่ที่ต้องการย้ายไปอยู่ใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม
โดยมีเงื่อนไขว่าสามารถแจ้งย้ายในคราวเดียวกันได้ ครั้งละไม่เกินจำนวน 3 คน บุคคลที่จะย้ายเข้าทะเบียนบ้าน ต้องไปแสดงตัวยืนยันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทะเบียนเท่านั้น เพื่อสอบปากคำสาเหตุในการย้ายที่อยู่ มีอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 20 บาท ต่อการยื่นเรื่อง 1 ครั้ง
สำหรับท่านที่ต้องการย้ายทะเบียนบ้านให้กับตนเองและบุตรหลานในบทความนี้จะให้รายละเอียดที่แตกต่างระหว่างเอกสารประกอบการดำเนินการของผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วกับการดำเนินการของผู้เยาว์ (ในที่นี้หมายถึงอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)
สำหรับผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
- บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริง ของผู้แจ้งย้าย พร้อมสำเนาจำนวน 1 ชุด
- เจ้าของบ้านที่จะแจ้งย้ายเข้า มาให้ความยินยอมให้ย้ายเข้า พร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริง และสำเนาจำนวน 1 ชุด หากเจ้าบ้านไม่สามารถมาได้ ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่ลงชื่อรับรองสำเนาจำนวน 1 ชุด
- ทะเบียนบ้านฉบับจริงที่จะแจ้งย้ายเข้า (เล่มสีน้ำเงิน)
สำหรับการแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางให้ผู้เยาว์ (ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี)
- สูจิบัตรของบุตร ฉบับจริง พร้อมสำเนาจำนวน 1 ชุด
- บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริง ของบิดาหรือมารดา พร้อมสำเนาจำนวน 1 ชุด
- กรณีบิดามาแจ้ง : ทะเบียนการสมรสหรือทะเบียนการรับรองบุตร หรือทะเบียนการหย่าที่ระบุว่า บิดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร ฉบับจริง พร้อมสำเนาจำนวน 1 ชุด
กรณีมารดามาแจ้ง : ทะเบียนการหย่าที่ระบุว่ามารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร ฉบับจริง พร้อมสำเนาจำนวน 1 ชุด
- เจ้าบ้านหลังที่จะแจ้งย้ายเข้ามาให้ความยินยอมให้ย้ายเข้า พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริง ของเจ้าบ้าน และสำเนาจำนวน 1 ชุด หากเจ้าบ้านไม่สามารถมาได้ ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่ลงชื่อรับรองสำเนาจำนวน 1 ชุด
- ทะเบียนบ้าน ฉบับจริง ที่จะแจ้งย้ายเข้า (เล่มสีน้ำเงิน)
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล ฉบับจริง พร้อมสำเนาจำนวน 1 ชุด (หากมี)
หมายเหตุ : ในกรณีการแจ้งย้ายภายในอำเภอ หรือภายในสำนักทะเบียนเดียวกัน ต้องใช้วิธีการแจ้งย้ายออกและย้ายเข้าเท่านั้น
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ กรมการปกครอง
www.dopa.go.th